ความผิดปกติจากภาวะต่าง ๆ ผู้หญิงที่หลายคนต้องประสบพบเจอ คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาด สิวขึ้นตามร่างกายและบริเวณใบหน้า และหรือบางรายเเป็นหนักจนเกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากไข่ไม่ตก
ภาวะไข่ไม่ตก หรือเซลล์ไข่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติแบบไม่สมบูรณ์ หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าไข่ไม่ตกเกิดจากอะไร และมีความอันตรายอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อสงสัยอย่างไข่ไม่ตกท้องได้ไหม? เรามาหาคำตอบภายในบทความนี้กัน
ทำความรู้จักกับภาวะไข่ไม่ตกคืออะไร
ไข่ไม่ตก(anovulation) คือ ภาวะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในผู้หญิง ไข่ไม่ตกหรือไม่มีฟองไข่ตกออกจากรังไข่ ในรอบเดือนนั้น ๆ เป็นผลมาจากไม่มีการเจริญของฟอลลิเคิล (follicles) ในรังไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีไข่ตกประมาณ 12 – 14 ครั้งต่อปี หรือ 1 ครั้งต่อรอบประจำเดือน
ภาวะไข่ไม่ตกจะร่างกายจะไม่สามารถสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัว มีการหลุดลอกตัวผิดปกติ จนเกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาดหาย และเป็นภาวะมีบุตรยาก
ไข่ไม่ตกมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งสถิติของอาการไข่ไม่ตกจะเกิดขึ้นร้อยละ 10 ของผู้หญิงทั้งหมด บางรายอาจจะเป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังได้ หากไม่ทำการรักษาอย่างถูกวิธี
ภาวะไข่ไม่ตก เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
ไข่ไม่ตก หรือ ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง มักจะเกิดความผิดปกติของการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้ขบวนการเติบโตของไข่น้ันหยุดชะงัก ร่างกายจึงสูญเสียระบบการทำงานควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นไข่ไม่ตกเรื้อรัง ได้แก่
- ความผิดปกติของฮอร์โมน
ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ปกติ หรือไม่สมดุล มักจะเกิดขึ้นตอนช่วงวัยกำลังเจริญพันธุ์ และวัยกำลังจะหมดประจำเดือน ฮอร์โมนที่ไม่สมดุลจนทำให้เกิดการไข่ไม่ตก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนแอนโดรเจน
- ภาวะมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำเล็ก ๆ หลายใบ เกิดจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) สูง และผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- ภาวะรังไข่เสื่อม
ภาวะรังไข่เสื่อม หรือ รังไข่หยุดทำงานก่อนถึงวัยอันควร ภาวะรังไข่เสื่อมจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุก่อน 40 ปี จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ไข่ไม่ตก และทำให้ผู้หญิงเกิดภาวะมีบุตรยาก
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป โดยพฤติกรรมที่ทำให้ไข่ไม่ตก หรือทำให้ไข่ตกลดน้องลงมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น รับประทานของหวานมากเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย
- น้ำหนักตัว
ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวมากเกินไปอาจเกิดภาวะไข่ไม่ตก เพราะว่าร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนจากไขมัน เมื่อมีไขมันสะสมมากเกินไป ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง มีอะไรบ้าง
หลังจากทราบกันแล้วว่าไข่ไม่ตกเกิดจากอะไร มาดูกันต่อว่าอาการที่บ่งบอกถึงการไข่ไม่ตกมีอะไรกันบ้าง และไข่ไม่ตกเรื้อรัง อันตรายไหม
1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ประจำเดือนมาน้อยหรือมามากผิดปกติ
- รอบประจำเดือนยาวนานกว่า 35 วัน
- ประจำเดือนขาดหายไป
2. มีอาการตกขาวผิดปกติ
- ตกขาวมีสีเหลือง ใส หรือขุ่น
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- ตกขาวมีลักษณะเป็นก้อน
3. อาการปวดท้องน้อย
- ปวดท้องน้อยบริเวณข้างอุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องน้อยก่อนมีประจำเดือน
4. การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
- อารมณ์แปรปรวน
- หงุดหงิด โมโหง่าย
- รู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่
5. ภาวะมีบุตรยาก
- คู่ที่แต่งงานกันแล้วพยายามอยากมีบุตรร่วมกันนานกว่า 1 ปี แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
6. อาการอื่น ๆ
- ผู้ที่เป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ผมร่วง ผมบาง
- ผิวมัน สิวขึ้น
- มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกมีกี่วิธี
คำถามที่ว่าไข่ไม่ตกเรื้อรัง รักษายังไงได้บ้าง? แนวทางการรักษาผู้ป่วยไข่ไม่ตกมีอยู่หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น และความรุนแรงของอาการไข่ไม่ตก ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
- ทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้
- หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารจำพวกของมัน ของทอด ของหมัก และของดอง
- เลือกทานโปรตีนไขมันต่ำ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงที่ก่อให้เกิดความเครียด
- ใช้ยารักษา
ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข่ไม่ตกหรือ ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยามีวิธีรักษาอยู่ 2 แบบ คือยาสำหรับรับประทาน และยาฉีด สำหรับยาแบบรับประทาน คือยาคลอมีเฟนจะช่วยกระตุ้นการตกไข่ และยาฉีด HCG เป็นยาที่ใช้กระตุ้นการตกไข่ โดยฉีดหลังจากทานยากระตุ้นการตกไข่ 36 – 48 ชั่วโมง
- รักษาวิธีผ่าตัด
- ผ่าตัดเจาะรังไข่ โดยใช้เลเซอร์ หรือไฟฟ้าจี้รังไข่ เพื่อกระตุ้นการตกไข่
- ผ่าตัดท่อนำไข่ที่อุดตัน ผู้ป่วยไข่ไม่ตกบางรายสาเหตุอาจจะเกิดจากการอุดตันของท่อนำไข่ จึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาท่อนำไข่อุดตัน
ปัญหาของการมีบุตรยาก เป็นส่วนหนึ่งของไข่ไม่ตก
สำหรับผู้หญิงที่ไข่ไม่ตก หากเกิดข้อสงสัยที่ว่าไข่ไม่ตกสามารถท้องได้ไหม? คำตอบคือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์เป็นการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ แต่ถ้าหากผู้หญิงมีการตกไข่ที่ผิดปกติสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่โอการตั้งครรภ์จะลดน้อยลง
การที่ไข่ไม่ตกสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีดูแลสุขภาพร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถึงอย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีการไข่ไม่ตกควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับคุณ