หลายคนอาจจะเป็นโรควิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ไม่สามารถหาทางออกได้ แต่สำหรับคนปกติ จะสามารถปรับอารมณ์ ควบคุมอาการเครียดวิตกกังวลได้ แต่ผู้เป็นโรควิตกกังวลจะมีอาการอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวันได้ ดังนั้น หากมีอาการวิตกกังวลเครียดเป็นเวลานาน ก็ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อให้ได้การรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
โรควิตกกังวล คืออะไร?
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ กลุ่มโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวล กลัว หรือไม่สบายใจอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าผู้คนจะเป็นโรควิตกกังวลกันมากขึ้น ด้วยสถิติผู้ป่วยโรควิตกกังวลซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี อีกทั้งยังพบในวัยเด็กและวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ
โรควิตกกังวลเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
โรควิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยอาจจะเริ่มจากสถานการณ์ที่ตึงเครียด สร้างความวิตกกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สำหรับผู้เป็นโรควิตกกังวลมักจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- พันธุกรรม หากมีญาติสายตรงเป็นโรควิตกกังวล ย่อมมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากยีนทางพันธุกรรมส่งผลต่อสารเคมีในสมอง
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน โดพามีน ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
- การเคยผ่านประสบการณ์สะเทือนใจ หรือเหตุการณ์เลวร้าย เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสีย การถูกทารุณกรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรควิตกกังวล
- การเผชิญกับความเครียดสะสม ส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย กระตุ้นให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้น
- โรคทางร่างกายบางโรค เช่น โรคไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคทางระบบหายใจ ล้วนส่งผลต่อสมดุลของสารเคมีในสมอง และอาจกระตุ้นให้อาการวิตกกังวลปรากฏขึ้น
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้สารเสพติด, การดื่มแอลกอฮอล์, การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือภาวะขาดสารอาหาร ก็ล้วนแต่ส่งผลให้เป็นโรค anxiety ได้
ทั้งนี้ สาเหตุของโรควิตกกังวล มักเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน ทำให้ยากที่จะระบุสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้น การวินิจฉัยและรักษาโรควิตกกังวล จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
อาการของโรควิตกกังวลเป็นอย่างไร?
บางคนอาจจะเกิดอาการวิตกกังวลกลัวได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดหรือปัญหาต่าง ๆ แต่โรควิตกกังวลนั้น มีอาการชัดเจนหลายประเภท ได้แก่
- อาการโรควิตกกังวลทางอารมณ์ โดยรู้สึกวิตกกังวล กลัว กังวล รู้สึกไม่สบายใจ กระวนกระวาย หงุดหงิด ใจสั่น ใจเต้นเร็ว รู้สึกเหมือนจะหายใจไม่ออก หรือรู้สึกเหมือนจะตาย
- อาการโรควิตกกังวลทางความคิด โดยจะรู้สึกคิดมาก คิดวนเวียน คิดถึงแต่เรื่องร้าย ๆ หรือคิดกังวลไปล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้าย รวมถึงรู้สึกกลัวการสูญเสีย
- อาการโรควิตกกังวลทางร่างกาย จะมีอาการตัวสั่น เหงื่อออก หน้าแดง คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดหัว จนนอนไม่หลับ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย
แต่ทั้งนี้ โรควิตกกังวลอาการอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของโรค โดยอาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หรือเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ บางรายอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างโรควิตกกังวลบางประเภท ได้แก่
- โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) โดยผู้ป่วยจะรู้สึกกังวลเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง นานเกิน 6 เดือน
- โรควิตกกังวลแบบตื่นตระหนก (Panic Disorder) จะเกิดอาการตื่นตระหนกเฉียบพลัน รู้สึกกลัวอย่างรุนแรง หายใจไม่ออก ใจสั่น หน้ามืด คลื่นไส้
- โรควิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety Disorder – SAD) รู้สึกกลัวการถูกจับตามอง กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงกลัวการพูดในที่สาธารณะ
- โรควิตกกังวลชนิดแยกจากกัน (Separation Anxiety Disorder) โดยกลัวการแยกจากบุคคลที่รัก
- โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) เป็นการกลัวสิ่งของ สถานที่ หรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง
วิธีรักษาของโรควิตกกังวล
สำหรับผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะวิธีรักษาขึ้นอยู่กับประเภทของโรค ความรุนแรงของอาการ และบริบทเฉพาะตัวของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องให้แพทย์หรือจิตแพทย์พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
- การรักษาโรควิตกกังวลด้วยการบำบัดทางจิต
- จิตบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT) โดยช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความวิตกกังวล และฝึกฝนทักษะการจัดการกับความคิดและอารมณ์
- จิตบำบัดแบบกลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น แบ่งปันความรู้สึก และฝึกฝนทักษะการสื่อสาร
- การรักษาโรควิตกกังวลด้วยการใช้ยา
- ยาต้านเศร้า ช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง บรรเทาอาการวิตกกังวลและเศร้า
- ยาคลายกังวล ช่วยลดอาการทางกายภาพ เช่น ใจสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้
- การรักษาโรควิตกกังวลด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
- ออกกำลังกาย ช่วยลดความเครียด เพิ่มสารเคมีในสมองที่ส่งผลดีต่ออารมณ์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายและสมองได้ฟื้นฟู
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นอาการวิตกกังวลได้
- ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ ฝึกโยคะ ฝึกสมาธิ
บางรายอาจจะมองว่า โรควิตกกังวลรักษาเองได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจะรักษาโรควิตกกังวลด้วยตัวเองได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยการดูแลตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการฝึกเทคนิคจัดการความวิตกกังวล
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรควิตกกังวล
หากเป็นโรควิตกกังวล จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้แนวทางในการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้งต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- การดูแลสุขภาพกาย
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ และอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 30 นาที 3 – 5 วันต่อสัปดาห์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 – 8 ชั่วโมงต่อคืน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อผ่อนคลาย
- การดูแลสุขภาพจิต
- ฝึกสติอยู่กับปัจจุบัน เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกโยคะ
- หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำสวน
- พูดคุยกับคนสนิท ระบายความรู้สึกและอารมณ์
- ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อรับคำแนะนำและการรักษา
- เทคนิคการจัดการกับความวิตกกังวล
- จดบันทึกความคิดและความรู้สึก เพื่อวิเคราะห์และหาสาเหตุของความวิตกกังวล
- ฝึกเทคนิคการหายใจ เช่น การหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ
- ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- ฝึกเทคนิคการคิดเชิงบวก เปลี่ยนมุมมองความคิดต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
- ฝึกเทคนิคการเผชิญหน้ากับความกลัว ค่อย ๆ เผชิญกับสิ่งที่กังวลทีละน้อย
สิ่งสำคัญของการดูแลตัวเองที่เป็นโรควิตกกังวล คือ การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ฝึกฝนเทคนิคต่าง ๆ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อควบคุมอาการวิตกกังวลให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
สรุปเกี่ยวกับโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวล กลัว หรือไม่สบายใจอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรควิตกกังวลจากแพทย์ เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ การรักษาโรควิตกกังวลต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก รวมถึงครอบครัวและคนรอบข้างก็ควรให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ