สำหรับคู่รักที่แต่งงานกันมาแล้ว หรือมีเพศสัมพันธ์กันโดยปล่อยแบบธรรมชาติเป็นเวลานาน 1 ปี หากยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ ก็อาจเข้าข่ายต่อการเสี่ยงในการมีลูกยาก หรือเสี่ยงเป็นภาวะมีบุตรยาก ซึ่งปัจจุบันปัญหาการมีลูกยากของคนไทยพบมากถึง 12 ล้านคน แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเผชิญอยู่กับภาวะการมีบุตรยาก อาจเกิดจากการไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการมีบุตรยาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
ในปัจจุบันมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการมีลูกยาก พร้อมแนวทางการรักษาที่ทันสมัย ทำให้ปัญหาการมีลูกยากค่อย ๆ ลดลงไปตามลำดับ สำหรับสาเหตุทีก่อให้เกิดภาวะการมีบุตรยากนั้น เกิดได้จากทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย
โดยในบทความนี้จะมาเจาะลึกเกี่ยวกับการมีลูกยาก สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ทำไมเราถึงเป็น พร้อมทั้งในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาการมีลูกยากอย่างไร
ภาวะมีบุตรยากหรือมีลูกยาก
ภาวะการมีบุตรยากหรือการมีลูกยาก คือ การที่คู่รักที่แต่งงานกันมาแล้วในระยะเวลาที่นานพอสมควร และมีเพศสัมพันธ์แบบปล่อยตามธรรมชาติ แต่ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์เสียที ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็เข้าข่ายว่าคุณหรือคู่รักของคุณนั้นเสี่ยงต่อการมีลูกยาก ซึ่งสาเหตุนั้นไม่เพียงแต่เกิดจากเพศหญิงอย่างเดียวเท่านั้น การมีลูกยากอาจมีสาเหตุเกิดจากเพศชายอีกด้วย
โดยการมีลูกยากนั้นอาจเกิดจากฝ่ายหญิง 40% เกิดจากฝ่ายชาย 25% เกิดจากทั้งสองฝ่าย 20% ไม่พบสาเหตุอีก 15% ทั้งนี้คุณควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุอย่างละเอียดอีกที โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดจากเพศชาย คือ อสุจิไม่แข็งแรง ไม่พบตัวอสุจิ หรือ รูปร่างไม่สมบูรณ์เป็นต้น และสำหรับเพศหญิงนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น เซลล์ไข่ฝ่ายหญิง มดลูกฝ่ายหญิง เป็นต้น
โดยอาการของการมีลูกยากนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละรายบุคคล หรือแม้กระทั่งไม่พบอาการเฉพาะ ซึ่งก็จะอยู่ในกรณีที่มีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุ คือ การไม่ตั้งครรภ์หลังจากที่พยายามมีลูกแบบธรรมชาติเป็นระยะเวลานาน
อาการของภาวะมีลูกยาก
สำหรับอาการของภาวะมีลูกยากนั้นจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า อาการจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย หรืออาจไม่พบอาการใด ๆ เลยก็เป็นได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของภาวะการมีลูกยากนั้น มีดังนี้
- การไม่ตั้งครรภ์ เป็นอาการที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะการมีลูกยาก คือ เมื่อคุณและคู่รักพยายามมีลูกกันตามแบบธรรมชาติ แต่ไม่เกิดการตั้งครรภ์เสียทีตามเวลาที่เหมาะสม เช่น 1-2 ปี
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- มีน้ำหนักเกิดเกณฑ์ โรคอ้วน
- เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- มีผมขาด หลุดร่วง
- ไม่มีอารมณ์ทางเพศ
โดยอาการนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย หรืออาจไม่พบอาการใด ๆ เลย แต่หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักของคุณแบบปล่อยตามธรรมชาติเป็นเวลา 1 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์เสียที คุณก็เข้าข่ายที่จะมีลูกยาก ดังนั้นคุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป
มีลูกยาก เกิดจากสาเหตุอะไร
ปัญหาการมีลูกยากนั้น ในปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ซึ่งอาจะเกิดจากความล่าช้าในการแต่งงาน หรือการวางแผนครอบครัวในระยะยาวให้มั่นคง จึงทำให้มีลูกในตอนอายุที่มากแล้ว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะการมีลูกยาก แต่สาเหตุเกี่ยวกับการมีบุตรยากนั้นก็ไม่ได้เกิดจากเรื่องของอายุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง หรือแม้กระทั่งไม่พบสาเหตุอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการมีลูกยากนั้นมีดังนี้
1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ
การที่ประจำเดือนของคุณนั้นขาด ๆ หาย ๆ หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งหมายความว่าร่างกายของคุณอาจมีไข่ตกบ้างหรือไม่มีไข่ตกเลยก็ได้ ซึ่งการที่ไม่มีไข่ตกนั้นจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ยิ่งไข่ตกน้อยเท่าไหร่โอกาสในการตั้งครรภ์ของคุณก็จะน้อยลงตามไปด้วย
เนื่องจากการตั้งครรภ์สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ การตกไข่ ของผู้หญิง ซึ่งการตกไข่นั้นเกิดจากการที่ผู้หญิงมีประจำเดือน แต่ถ้าหากประจำเดือนของคุณมาผิดปกติหรือประจำเดือนไม่มา นั้นหมายถึงคุณไม่มีการตกไข่นั้นเอง จึงทำให้การตั้งครรภ์ของคุณมีโอกาสน้อยลง
2. รังไข่เสื่อม
รังไข่เสื่อม หรือรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีภาวะรังไข่เสื่อมตอนช่วงวัย 44-55 ปี โดยจะมีรอบเดือนห่าง มาน้อย รวมไปถึงมีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อยและไม่มีแรง หรือที่เรารู้จักว่า ช่วงวัยทอง นั้นเอง แต่หากคุณมีอาการเหล่านี้ก่อนอายุ 40 อาจเข้าข่ายว่าคุณเป็นภาวะรังไข่เสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก
ซึ่งหากคุณเป็นภาวะรังไข่เสื่อมนั้น จะทำให้ร่างกายของคุณไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนตามปกติได้ ทำให้ฮอร์โมนเกิดความไม่สมดุล ประจำเดือนไม่มาจึงทำให้ไม่เกิดการตกไข่ หรือไข่ที่ตกนั้นไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดภาวะการมีลูกยาก
3. ท่อนำไข่ตัน
ท่อนำไข่ตันเป้นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการมีลูกยาก เนื่องจากท่อนำไข่นั้นเป็นบริเวณที่อสุจิกับไข่จะมาเจอกันและปฏิสนธิกันก่อนทั้จะไปฝังตัวบริเวณมดลูก ทำให้ถ้าเกิดท่อนำไข่ตันอสุจิกับไข่จะไม่สามารถมาพบกันและปฏิสนธิกันได้ หรือในอีกกรณีคืออสุจิอาจเล็ดลอดเข้าไปพบและปฏิสนธิกับไข่ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อตัวไปฝังตัวที่มดลูกได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4. ต่อมลูกหมากอักเสบ
ต่อมลูกหมากอักเสบ ปัญหาการมีลูกยากที่เกิดจากเพศชาย เป็นการอักเสบบริเวณต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นต่อม
ที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์และอยู่ใกล้กับระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ ปวดอวัยวะเพศ อัณฑะ ขาหนีบ และบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่อาจมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์
5. อุ้งเชิงกรานอักเสบ
อุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ บริเวณมดลูก ปีกมดลูก และท่อนำไข่ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเกิดเป็นพังผืดในมดลูกนำไปสู่การมีลูกยากได้
สาเหตุของภาวะการมีลูกยากอาจมีความซับซ้อนและเกิดได้หลายปัจจัยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากคุณหรือคู่รักของคุณเสี่ยงต่อการมีบุตรยากคุณควรที่จะเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชเพื่อรักการประเมินและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ขั้นตอนและวิธีการตรวจภาวะมีบุตรยาก
หากคุณกังวลหรือมีความสงสัยว่าตนเองหรือคู่รักนั้นอาจเกิดภาวะการมีลูกยาก สิ่งที่คุณควรทำก็คือการตรวจประเมินภาวะการมีบุตรยากกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจดูและหาวิธีรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีขั้นตอนและวิธีในการตรวจหาภาวะมีบุตรยาก ดังนี้
ตรวจการมีลูกยากในผู้ชาย
สำหรับวิธีการตรวจหาภาวะการมีลูกยากในเพศชายนั้นจะทำโดยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของน้ำเชื้อ เพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของตัวอสุจิ ซึ่งจะตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจตัวอย่างน้ำเชื้อเพื่อดูการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- สําหรับการทดสอบภาวะเจริญพันธุ์ในการตรวจดูคุณภาพของน้ำเชื้อ ผู้เข้ารับการตรวจควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเองเป็นเวลา 2-7 วันเพื่อให้มีจํานวนน้ำเชื้อมากที่สุด
- แพทย์ที่รับการตรวจจะขอให้ผู้เข้ารับการตรวจช่วยตัวเองเพื่อเก็บน้ำเชื้อใส่ในภาชนะที่ปลอดเชื้อ จากนั้นแพทย์จะทำการวิเคราะห์น้ำเชื่อเพื่อทดสอบภาวะการเจริญพันธุ์ ได้แก่ ระดับความเป็นกรดด่างของน้ำเชื้อ โดยไม่ควรเป็นกรดมากเกินไป ปริมาณน้ำเชื้อและความมีชีวิตของตัวอสุจิ ความเข้มข้นของอสุจิ รูปร่างของตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ และอื่น ๆ เป็นต้น
ตรวจการมีลูกยากในผู้หญิง
สำหรับการตรวจภาวะการมีลูกยากในเพศหญิงนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจแบบ Ultrasound ภายในเพื่อเช็คผนังมดลูก หรือความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ ตรวจการตกไข่ การตรวจภาวะท่อนำไข่ตีบหรือตันโดยการฉีดสี การตรวจจำนวนไข่และตรวจระดับฮอร์โมนที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ เช่น AMH หรือ Anti-Mullerian Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างมาจากไข่ใบเล็ก ๆ ในรังไข่ ซึ่งจะบ่งบอกการทำงานของรังไข่และจำนวนไข่ที่เหลือของผู้หญิงในขณะนั้น โดยวิธีการตรวจดูระดับ AMH หรือ Anti-Mullerian Hormone จะใช้วิธีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูระดับของฮอร์โมน ซึ่งการตรวจวัด AMH ถือเป็นวิธีการชี้วัดปริมาณไข่ที่มีอยู่ในรังไข่ได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
กาตรวจวินิจฉัยภาวะการมีลูกยากนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกายต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดการมีลูกยาก รวมไปถึงประเมินความเสี่ยงที่มีต่อการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากคุณเข้าข่ายหรือสงสัยว่าคุณและคู่รักของคุณเสี่ยงต่อภาะวะการมีบุตรยาก คุณควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อข้อคำแนะนำพร้อมแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
แนะนำทางเลือกในการรักษาสำหรับคนมีลูกยาก
เมื่อผลการตรวจการประเมินการมีบุตรยากของคุณออกมาแล้ว จากนั้นแพทย์จะพิจารณาและบอกแนวทางการรักษาในลำดับต่อไป โดยแนวทางการรักษาการมีลูกยากในปัจจุบันนั้นค่อนข้างทันสมัยและได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งแนวทางการรักษานั้นมีดังต่อไปนี้
IUI
IUI (Intra – Uterine Insemination) เป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งเป็นการฉีกเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของคุณ ซึ่งมีวิธีการโดยนำท่อพลาสติกขนาดเล็กผ่านปากมดลูกจากนั้นฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วงที่ไข่ตก หรือใกล้เคียงกับเวลาที่ไข่ตก ซึ่งอสุจิที่ฉีดเข้าไปนั้นจะว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงที่ท่อนำไข่ และเคลื่อนที่ไปฝังตัวบริเวณมดลูกต่อไป
สิ่งที่สำคัญของการทำ IUI คือ อสุจิของเพศชายจะต้องแข็งแรงและผ่านการคัดกรอง 1 ล้านตัวขึ้นไป แต่หากมีน้อยกว่านั้นโอกาศในการตั้งครรภ์จะลดลง
ICSI
ICSI หรือ การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิและโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ โดยมีขั้นตอนในการฉีดคือ เริ่มฉีดยากระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2 ของรอบเดือน โดยฉีดยาทุกวันประมาณ 9-12 วัน ในระหว่างนั้นจะมีการนัดทำอัลตร้าซาวด์ 2-3 ครั้ง เพื่อตรวจดูฟองไข่ว่ามีการเติบโตหรือไม่ หากฟอวไข่โตได้ที่แล้ว จะทำการดูดไข่นั้นออกมา และฝ่ายชายจะให้เก็บอสุจิมาในวันเดียวกันกับที่มีการนำไข่ออกมา จากนั้นจะทำกระบวนการ ICSI ซึ่งทำในในห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน จากนั้นไข่และอสุจิจะมาเจอกันและเกิดการปฎิสนธิเกิดเป็นตัวอ่อน (Embryo) ขึ้นมา
IVF
IVF หรือที่เรารู้จักกันว่าการทําเด็กหลอดแก้ว คือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) โดยการนำสเปิร์มและไข่ออกมาทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการทดลองจากนั้นจะฝังตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ โดยขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วนั้นจะเริ่มจาก การกระตุ้นไข่ การเก็บไข่ การเพาะเลร้ยวตัวอ่อน การย้ายตัวอ่อน เป็นต้น
ฝากไข่
สำหรับการฝากไข่นั้นเป็นทางเลือกในการวางแผนในอนาคตสำหรับคนที่ต้องการมีลูกแต่ยังไม่พร้อม หรือผู้ที่มีภาวะมีลูกยาก และมีโรคประจำตัวต่าง ๆ โดยการฝากไข่ (Oocyte Cryopreservation หรือ Egg Freezing) หรือ การแช่แข็งเซลล์ไข่ เป็นการรักษาคุณภาพเซลล์ไข่ผู้หญิง เพื่อให้สามารถเก็บไข่เอาไว้ใช้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ โดยการนำไข่ที่สุขภาพดีของเพศหญิงออกมาและนำไปแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส และหากคุณต้องการที่จะตั้งครรภ์ ก็จะนำไข่นั้นออกมาเพื่อใช้ปฏิสนธิกับอสุจิฝ่ายชาย
ข้อสรุป
สำหรับปัญหาของคนอยากมีลูก แต่มีลูกยากนั้นเป็นปัญหาที่พบได้มากในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากสามารถเกิดได้จากทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยทางการแพทย์ก็มีสาเหตุที่ระบุไว้ชัดเจน แต่ก็ยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากที่ไม่สามารถระบุได้ หากคุณเข้าข่ายที่เสี่ยงต่อการมีลูกยากคุณควรที่จะพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป โดยปัจจุบันมีแนวทางการรักษาที่ทั้งทันสมัยและให้ผลลัพธ์ได้อย่างดี เช่น การทำ IUI ICSI และการฝากไข่ เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถเลือกแนวทางการรักษานี้ได้ตามสาเหตุที่เกิดขึ้นหรือตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าสมควร