ปัญหาผิวหนังที่พบมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับคุณผู้หญิง และทำร้ายความมั่นใจในบุคลิกภาพมาก ก็คือ“ฝ้า” โดยทั่วไป ฝ้าไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิด และส่วนใหญ่จะพบในหญิงอายุประมาณ 30-40 ปี หรือ ช่วงกลางของวัยเจริญพันธุ์ ในจำนวนผู้ที่เป็นฝ้าทั้งหมด ร้อยละ 90 จะเป็นผู้หญิง
สำหรับคนที่กำลังมีปัญหา ฝ้าบนใบหน้า ควรต้องมาทำเข้าใจเกี่ยวกับ ฝ้า ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้หาสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้า วิธีป้องกันและวิธีรักษา ที่ถูกต้องเหมาะสมกับฝ้าแต่ละประเภท
ทำความรู้จักกับ “ฝ้า” (Melasma)
ฝ้า หรือ Melasma คือ ภาวะที่เซลล์สร้างเม็ดสีในผิวหนังทำงานมากขึ้น ในผิวหนังจึงมีเม็ดสีหรือเมลานิน มากขึ้น นอกจากเซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้นแล้ว จะพบว่าจำนวนอาจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ฝ้า เป็นสภาพผิวหนังที่มีรอยหรือปื้นสีน้ำตาล เทาหรือดำ มักมีลักษณะเท่ากันทั้ง 2 ข้าง (บนใบหน้า)
ฝ้า กระ แตกต่างกันอย่างไร
ฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็นปัญหาผิวอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่กระทบด้านบุคลิกภาพและความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทั้งฝ้าขึ้นหน้า หรือกระที่ขึ้นบนใบหน้า เกิดจากการทำงานของเม็ดสีที่ผิดปกติ
ฝ้า และ กระ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ฝ้าจะมีลักษณะเป็นปื้นและมีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่ กระ จะเป็นจุดกลม ๆ เล็ก ๆ มีขอบชัดเจนสำหรับจุดด่างดำ หรือ dark spot คือ รอยอักเสบที่เกิดจากการเป็นสิว ทำให้ผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนจากรอยแดงเป็นรอยดำ
ฝ้า (Melasma)
ฝ้าเป็นปื้นสีเข้ม มีหลายเฉดความเข้มตั้งแต่สีออกน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ผ้ามีอยู่หลายขนาดตั้งแต่ ฝ้าขนาดเล็กไปจนถึงฝ้าขนาดใหญ่ได้ นอกจากขยายใหญ่แล้วยังสามารถฝังลึกลงในชั้นผิวมากขึ้น ฝ้าเกิดได้ทั่วใบหน้า เช่นฝ้าตรงโหนกแก้ม ฝ้าหนวด ฝ้าที่จมูก
กระ (Freckle)
กระ จะมีลักษณะเป็นจุดด่างดำ หรือรอยด่างดำ มักมีทรงกลม สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มชัด มีขนาด
เล็ก มีขอบที่ชัดเจนไม่เป็นปื้น เกิดได้ทั้งบนใบหน้า โดยเฉพาะแก้ม และหน้าผาก และร่างกายส่วนอื่น ๆ เช่น คอ แขน ขา กระสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ กระตื้น กระลึก กระเนื้อ และกระแดด
ฝ้า เกิดจากสาเหตุใด
ฝ้า เกิดจากการที่เมลานินหรือเม็ดสีมีมากเกินไป ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีรอยสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำและจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีลักษณะเป็นปื้นหรือเข้มเป็นกระจุก
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดฝ้า คือ
- รังสียูวี ในแสงแดด
- การกินยาคุมกำเนิด
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- การเข้าสู่วัยทองและวัยหมดประจำเดือน
- การใช้เครื่องสำอางบางชนิดที่มีผลต่อการแพ้และกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินบนผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง
- กรรมพันธุ์
- ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- ภาวะทุพโภชนาการ การทำงานของตับผิดปกติ หรือขาดวิตามินบี 12
ฝ้า มีกี่ประเภท
ลักษณะของฝ้า จะเป็นรอยคล้ำ เป็นเงา ๆ ใต้ผิวที่อาจสังเกตเห็นไม่ชัด จนกระทั่งรอยดำได้กระจายเป็นจุดด่างดำเล็ก ๆ เช่น ฝ้า กระ ต่อมาก็จะกระจายเป็นวงกว้างและเข้มขึ้นเรื่อย ๆ รวมเป็นปื้นสีน้ำตาล หรือ ดำ โดยอาจเป็นขอบเขตที่ทั้งชัดเจนและไม่ชัดเจน ฝ้าที่มักพบเจอบ่อย ๆ คือ
1.ฝ้าแดด
เกิดจากรังสียูวีเอและยูวีบีจากแสงแดด หลอดไฟ แสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถทำลายผิวได้ลึก กระตุ้นการผลิตเม็ดสีภายในผิวหนัง ทำให้ผิวหน้าคล้ำเสีย หน้าหมองคล้ำ เกิดเป็นฝ้าแดดได้
2.ฝ้าเลือด
เกิดจากความผิดปกติของเลือดลมและฮอร์โมน มีลักษณะผิวแดงง่ายเมื่อโดนความร้อนหรือแสงแดด ฝ้าเลือด เป็นปื้นสีแดง และจะยิ่งแดงมากขึ้นถ้าโดนความร้อนหรือแสงแดด
3.ฝ้าตื้น
ฝ้าจะมีลักษณะเป็น สีน้ำตาลเข้มหรือดำ มีขอบชัด และเกิดอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) จะกระจายตัวมากเป็นพิเศษ เป็นชนิดฝ้าที่เกิดได้ง่าย และรักษาให้จางลงได้ง่ายด้วยยาทาฝ้า แล้วเพิ่มการป้องกันการเกิดฝ้าด้วยครีมกันแดดเสริม
4.ฝ้าลึก
ลักษณะฝ้าจะมีสีม่วง ๆ อมน้ำเงิน สีน้ำตาลอ่อน สีเทา หรือสีน้ำตาลเทา มีขอบเขตไม่ชัดเจน มักเกิดในระดับชั้นผิวหนังแท้ซึ่งอยู่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า ทำให้ลักษณะปื้นมีสีอ่อนกว่าฝ้าตื้น สามารถกลืนไปกับผิวหนังปกติรอบข้าง ฝ้าประเภทนี้รักษาหายได้ยากมาก ๆ
5.ฝ้าแบบผสม
ฝ้ามักมีสีเข้มตรงกลาง (ชั้นหนังแท้) ส่วนขอบมักมีสีจางกว่า (ชั้นหนังกำพร้า) จะเกิดทั้งในระดับชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้รวมกัน สรุปก็คือ เป็นทั้งฝ้าตื้นและฝ้าลึกพร้อมกัน ต้องรักษาด้วยวิธีหลายแบบรวมกันทั้งฝ้าลึกและฝ้าตื้น
ฝ้ามักเกิดบริเวณใดบ้าง
โดยทั่วไป ฝ้ามักจะพบในบริเวณที่ร่างกายสัมผัสแสงแดดค่อนข้างบ่อย เช่นใบหน้าเลยทำให้หน้าเป็นฝ้าและโดยเฉพาะ บริเวณ
- ฝ้าหน้าผาก
- ฝ้าตรงโหนกแก้ม
- ฝ้าเหนือริมฝีปาก ฝ้าหนวด
- ฝ้าตรงคาง
- ฝ้าที่จมูก
นอกจากนี้ยังอาจพบฝ้าได้ที่บริเวณแขนส่วนล่าง และหน้าอกส่วนบน
วิธีรักษาฝ้าให้หายขาด
เลเซอร์รักษาฝ้า กระลึก
การใช้เลเซอร์ (Fraxel, Erbium YAG) และ (Intense Pulse Light) ที่ยิงแล้วทำให้เม็ดสีกระจายตัวเป็นการช่วยปรับสภาพหรือรักษาความผิดปกติของสีผิว เป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างรวดเร็ว ผลของการรักษาจะทำให้ฝ้าจางลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น และฝ้าสามารถกลับมาใหม่ได้ตลอดเวลา หรืออาจไม่ได้ผลในบางราย
การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้า (Peeling Agent)
เป็นการใช้กรดผลไม้ (Glycolic Acid, AHA) ทาตรงจุดด่างดำ เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพออกไปแล้วสร้างเซลล์ผิวหนังชั้นนอกใหม่ แต่ผลข้างเคียงคือเสี่ยงให้สีผิวเข้มมากขึ้น หน้าบาง หรือเกิดด่างขาว วิธีนี้ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น มิฉะนั้นอาจเกิดแผลเป็นถาวรได้ และหลังการรักษาผิวห้ามโดนแสงแดด เพราะผิวจะมีความไวต่อแสง เสี่ยงต่อการเกิดฝ้าที่เข้มขึ้นและมากขึ้น
การใช้ยาทารักษาฝ้า
การทายารักษาฝ้า จะได้ผลดีกับผู้ที่เป็นฝ้าตื้น และต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผล และจะเห็นผลได้ชัดเจนหลังการใช้ 6 เดือนขึ้นไป ยาที่ใช้รักษาฝ้ามีอยู่หลายชนิด ได้แก่ กลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์, กรดอะซีลาอิก , กรดโคจิก, คอร์ติโคสเตียรอยด์, กรดไกลโคลิก เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น แสบ แดง หรือ ลอกเป็นขุย
เลือกใช้ครีมบำรุงที่มีสารช่วยรักษาฝ้า
เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างจะต้องใช้เวลามาก แต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัย แก้ตรงจุดและไม่เกิดผลข้างเคียง เพียงแต่ต้องเลือกครีมบำรุงผิวหน้า เซรั่มรักษาฝ้า หรือทรีทเมนต์ ยี่ห้อที่สามารถเชื่อถือได้ เช่น Bioderma
ป้องกันการเกิดฝ้า
เมื่อเข้าใจในประเภทของฝ้าแล้ว แต่ปัจจัยสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดฝ้าได้ เราจึงควรศึกษาถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า และใบหน้าหมองคล้ำ จะได้ไม่ต้องมาหาวิธีรักษาซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะหาย วิธีป้องกันคือ
- หลีกเลี่ยงแสงแดดเมื่อไม่จำเป็น หรือให้ใช้ร่มกางเพื่อป้องกันรังสียูวี สวมหมวก ผ้าคลุม โดยเฉพาะแดดช่วง 10.00 น. – 16.00 น. เพราะเเสงเเดดเป็นสาเหตุของ ฝ้า และหน้าหมองคล้ำ
- หลีกเลี่ยงยาที่เป็นต้นเหตุให้เกิดฝ้า หรือยาเพิ่มฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ยาคุมกำเนิด
- ใช้ “ครีมกันแดด” ที่มี SPF30+ ขึ้นไป ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดด 30 นาที
- ใช้ครีมทาที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ หรือครีมไวเทนนิ่งอื่น ๆ เพื่อป้องกันผิวหน้ามีสีเข้มขึ้น
- ดูแลตัวเอง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หลีกเลี่ยงความเครียด กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
คำถามที่พบบ่อย
ว่านหางจระเข้ รักษาฝ้าหายไหม
ว่านหางจระเข้อาจจะไม่สามารถทำให้ฝ้าสีเข้มหายไปได้ เพราะเม็ดสีที่สร้างขึ้นอยู่ในชั้นผิวที่ลึกมากกว่าผิวไหม้แดดทั่วไป แต่สามารถฟื้นฟูผิวจากแสงแดดได้ ช่วยต้านการอักเสบของผิวหนัง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้ดี
หอมแดง รักษาฝ้าอย่างเร่งด่วนจริงหรือ
แนะนำให้เข้ารับการดูแลรักษาฝ้าจากแพทย์โดยตรงดีกว่าใช้หอมแดง เพราะอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองจากสารไดอัลลิน ไตรซัลไฟต์จากหอมแดงได้ ถึงแม้ว่าสารนี้จะช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลดสิว ลดรอยฝ้า กระได้ดี
รักษาฝ้าด้วยมะขามเปียกได้หรือไม่
มะขามเปียกเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ใช้รักษา “ฝ้า” ได้ วิธีรักษาคือ คั้นน้ำมะขามเปียกให้ใส นำไปตั้งไฟอ่อน ๆรอจนเดือด ใส่น้ำผึ้งลงไปพร้อมกับคนไปพร้อม ๆ กัน คนจนเข้ากันดี แล้วนำมาทาหน้าวันละ 1 ชั่วโมง จะช่วยรักษา “ฝ้า” และทำให้ผิวหน้านวลและใสขึ้น
ปูนแดง รักษาฝ้าได้ไหม
ปูนแดงมีสรรพคุณในการลดอาการอักเสบ ปวด แผลหนอง ไม่ใช่รักษาฝ้า
ข้อสรุป
การป้องกันฝ้าที่ดีที่สุด ก็คือการเลี่ยงแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แล้วก็ให้ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF30ขึ้นไป จึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดในชีวิตประจำวันได้ดี นอกจากนี้แล้วก็ควรที่จะสวมเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันผิวได้อย่างมิดชิด สวมหมวก และกางร่ม เป็นต้น
ฝ้าเป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่ค่อนข้างน่าหนักใจเพราะรักษาให้หายได้ยาก ดังนั้นการปกป้องผิวจากปัจจัยต่างๆที่ก่อให้เกิดฝ้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และยังเป็นการดูแลและป้องกันปัญหาผิวในอนาคตอีกด้วย