ความวิตกกังวล หมายถึง ภาวะที่รู้สึกไม่สุขสบายหรือหวาดกลัว วิตก ตึงเครียด กังวล ซึ่งเป็น
ความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้หรือคาดการณ์ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น หรือความไม่แน่นอนของสิ่งที่มา
คุกคามต่อความรู้สึกของตนเอง หากยังคงมีความวิตกกังวลเป็นระยะนาน อาจจะส่งผลทำให้เกิดโรคแพนิคได้
โรคแพนิค ถือได้ว่าเป็นโรคที่ใครหลายคนไม่รู้ว่าตนเองกำลังเป็นโรคแพนิคอยู่ เพราะอาการของโรคแพนิคมีความคล้ายกับความกลัว ความวิตกกังวล เหมือนอาการของคนทั่วไป และโรคแพนิคจะไม่อันตรายแต่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
อาการโรคแพนิค ภัยเงียบที่อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
สำหรับอาการโรคแพนิค คุณสามารถสังเกตอาการตัวเองได้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยไม่คาดคิด และอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อาการโรคแพนิคอาจเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว หรือซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง
อาการทางกายภาพ
- ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
- เหงื่อออกมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ร้อนวูบวาบหรือรู้สึกหนาวสั่น
- มีอาการชาหรือเกร็งที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น
- เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ
อาการทางอารมณ์
- มีความหวาดกลัวอย่างรุนแรง
- กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะสติแตก
- กลัวจนไปถึงขั้นว่าตัวเองกำลังจะตาย
สาเหตุของโรคแพนิค
สาเหตุของโรคแพนิคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยทางพันธุกรรม โรคแพนิคมีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูก ประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคแพนิคมีประวัติครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความวิตกกังวล และพฤติกรรม
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิค ได้แก่
- ความเครียด ความเครียดสะสมจากการทำงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว อาจทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ
- การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การใช้ชีวิตที่เร่งรีบและพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นประจำ อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพนิค
- เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสียบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รัก การถูกทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดโรคแพนิคได้
- สารเสพติด การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือกัญชา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแพนิคได้เช่นกัน
หากคุณเกิดขึ้นสงสัยกับตัวเอง หรือพบเห็นคนใกล้ตัวที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคแพนิค คุณสามารถประเมินอาการที่แสดงออกมา พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือโรคแพนิคซึมเศร้าแบบทดสอบได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตออนไลน์ได้
การวินิจฉัยโรคแพนิค มีเกณฑ์จากอะไรบ้าง
panic attack คือ อาการหนึ่งของโรคแพนิค ผู้ป่วยโรคแพนิคมักมีอาการ panic attack ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยไม่คาดคิด และอาจรุนแรง ซึ่งการวินิจฉัยโรคแพนิคสามารถทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช โดยพิจารณาจากอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคแพนิคตาม DSM-5 (เป็นคู่มือวินิจฉัยอาการทางจิตเวชฉบับ ปี พ.ศ. 2556) ผู้ป่วยจะต้องมีอาการ panic attack อย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยอาการ panic attack จะต้องประกอบด้วยอาการทางกายภาพอย่างน้อย 4 ใน 13 ของอาการดังต่อไปนี้
- ใจสั่น ใจเต้นแรงและเร็วมาก
- มีเหงื่อมาก
- ตัวสั่น มือเท้าสั่น
- หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด
- รู้สึกอึดอัด หรือแน่นจุกอยู่ข้างใน
- มีความรู้สึกจะสำลัก
- คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง
- เวียนศีรษะ หน้ามืด รู้สึกเหมือนเป็นลม
- ชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง
- รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวสั่น
- รู้สึกไม่เป็นตัวเอง
- กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ สติแตก
- กลัวว่าตนจะตาย
และอีกหนึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยโรคแพนิคตาม DSM-5 ระบุไว้ว่าผู้ป่วยจะต้องมีอาการแพนิคแอทแท็ค อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และจะมีอาการอย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ อย่างน้อย 1 เดือน ดังนี้
- กังวล มักรู้สึกกังวลและกลัวว่าจะเกิดอาการแพนิคซ้ำอีก โดยอาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่คิดว่าอาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่คิดว่าอาจทำให้เกิดอาการแพนิคซ้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยอาจไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าไปทำงาน หรือไม่อยากไปพบปะผู้คน เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคแพนิค แพทย์จะพิจารณาให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการโรคแพนิค และนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาโรคแพนิค ทำได้อย่างไรบ้าง
โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก ผู้ป่วยมักจะมีภาวะวิตกกังวลที่รุนแรง เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่แสดงอาการออกมาทางร่างกาย และทางจิตใจหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อออก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ กลัวตาย และกลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรักษาโรคแพนิคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีที่รักษามีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ รักษาโรคแพนิคด้วยจิตบำบัด และรักษาโรคแพนิคด้วยยา ซึ่งแต่ละวิธีจะขึ้นดุลพินิจของแพทย์ที่รักษาว่าวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับผู้ป่วยขึ้นอยู่ความรุนแรงของอาการ
รักษาโรคแพนิคด้วยจิตบำบัด
เป็นวิธีรักษาที่มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจ และจัดการแก้อาการแพนิค ความวิตกกังวลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
- ปรับเปลี่ยนความคิด แพทย์ หรือนักจิตบำบัดจะให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคจะได้เรียนรู้วิธีที่จะเตือนสติให้อยู่กับตัวเองและท้าทายความคิดเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล เช่น ความคิดที่ว่า ฉันกำลังจะตาย หรือ จริง ๆ แล้วฉันควบคุมตัวเองไม่ได้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคจะได้เรียนรู้วิธีที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือสิ่งเร้าที่กระตุ้นทำให้เกิดความตื่นตระหนก ความวิตกกังวล ความกลัว โดยการฝึกฝนเทคนิคการเผชิญหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ฝึกผ่อนคลาย ผู้ป่วยจะได้ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ เช่น หายใจลึก ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การสมาธิ เพื่อช่วยให้อาการทางร่างกายที่เกิดจากความวิตกกังวลบรรเทาลง
รักษาโรคแพนิคด้วยจิตบำบัดจะใช้ระยะเวลารักษาที่ค่อนข้างนานโดยประมาณ 12 – 16 สัปดาห์ โดยจะให้ผู้ป่วยเข้ามารักษาสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 ครั้ง วิธีรักษาจะเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแพนิคและแนวทางรักษา จากนั้นจึงค่อย ๆ เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด
รักษาโรคแพนิคด้วยยา
เป็นวิธีรักษาที่มุ่งเน้นไปที่การลดอาการทางกาย และจิตใจที่เกิดจากโรคแพนิค โดยการใช้ยารักษาโรคแพนิคที่มีฤทธิ์ในการปรับเปลี่ยนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง โดยยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค ได้แก่
- ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วช่วยบรรเทาอาการทางกาย และจิตใจที่เกิดจากโรคแพนิค เช่น ใจสั่น หายใจติดขัด เหงื่อไหลออกตามร่างกายมากเกินผิดปกติ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ กลัวตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นต้น
- ยาในกลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) และ SNRI (Serotonin-Norepinephrine Reuptake Inhibitors) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้ากว่ายาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน แต่สามารถรักษาโรคแพนิคแต่จะเน้นรักษาในระยะยาวจะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ และความวิตกกังวล
วิธีรักษาโรคแพนิคด้วยยามักใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะรับประทานยาอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์จะปรับขนาดยาและระยะเวลาในการรับประทานยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยโรคแพนิค
ควรรักษาโรคแพนิครักษาที่ไหนดี
โรคแพนิครักษาที่ไหนดี? ตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่า คุณต้องรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ตั้งแต่การตรวจเช็คอาการ วินิจฉัยโรค และการรักษา ซึ่งแต่ละโรคพยาบาลจะมีวิธีการรักษาด้วยทั้ง 2 วิธีหลักเลย คือ รักษาโรคแพนิคด้วยจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด รวมถึงพฤติกรรมใหม่ และส่วนของด้วยการทานยายากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) กับกลุ่มยาคลายกังวล Benzodiazepines โดยการรักษาต้องควบคู่กันทั้งสองวิธี
สรุปโรคแพนิค ตื่นตระหนกอย่างฉับพลัน
โรคแพนิค คือเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเกิดอาการตื่นตระหนกอย่างกระทันหัน หากพบว่าตนเองมีความสุ่มเสี่ยง มีอาการของโรคแพนิค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การรักษาโรคแพนิคสามารถทำได้ด้วยยาหรือจิตบำบัด การรักษาด้วยยาจะช่วยให้อาการทางกายภาพและอารมณ์ดีขึ้น ส่วนการรักษาด้วยจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของโรคและเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการได้อย่างถูกต้อง