ฝ้า หรือฝ้าแดดที่เรารู้จักกัน คือ ความผิดปกติของเม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนัง มักเป็นปื้นสีน้ำตาลหรือเทาที่แก้ม หน้าผาก จมูก และคาง มักจะเป็นเท่า ๆ กันทั้งสองข้างหรือบริเวณที่ผิวหนังถูกทำลายโดยแสงแดดเช่น หน้าอก และแขน ขา ในบางคน ส่วนมากมักจะพบในผู้หญิง สาเหตุของการเกิดฝ้า เกิดจากแสงแดดและความร้อนผิวหนัง บริเวณที่เป็นจะเป็นปกติไม่มีการอักเสบ ไม่มีขุย การจะรักษาให้หายขาดนั้นยาก เพราะเกิดจากทำลายผิวที่ถูกสะสมมานาน อย่างมากทำได้แค่ให้ฝ้าจางลง แล้วเราต้องดูแลตัวเองต่อเพื่อไม่ให้ฝ้านั้นกลับมาอีก
ฝ้าแดด มีกี่ลักษณะและแต่ละลักษณะเป็นอย่างไร
ฝ้าแดดสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
- ฝ้าแดดแบบตื้น (Epidermal) มักเป็นปื้นสีน้ำตาล สีเข้มหรือสีอ่อนแล้วแต่ความรุนแรง มักเห็นขอบเขตได้อย่างชัดเจน สามารถรักษาให้จางลงได้ง่ายสุด เพราะอยู่ด้านบนจึงสามารถลอกฝ้า หรือผลัดเซลล์ผิวด้านบนที่มีเม็ดสีฝ้าอยู่ออกได้
- ฝ้าแดดแบบลึก (Dermal) เนื่องจากตัวฝ้าที่อยู่ลึกจึงมองเห็นเป็นสีน้ำตาลเทาหรือขอบเขตไม่ชัด และรักษายากกว่า เพราะยาทาหรือเลเซอร์ไปถึงยาก
- ฝ้าแดดแบบลึกและตื้นรวมกัน (Mixed) เป็นทั้งปื้นน้ำตาลและเทาปนกัน
ลักษณะของฝ้าแดดทั้ง 3 แบบ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอายุ แต่จะเกี่ยวกับลักษณะผิว การกินยาคุมหรือการตั้งครรภ์ของผู้ที่เป็น โดยปกติเซลล์สร้างเม็ดสีจะอยู่ในชั้นผิวหนังกำพร้าเท่านั้น แต่ในตัวผิวชั้นหนังกำพร้าเองก็ยังมีชั้นย่อยอีกหลายชั้น เมลานินอาจจะอยู่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่ลึกตื้นไม่เท่ากัน ในแต่ละคนอาจจะอยู่กระจุก กระจายแตกต่างกันออกไป ทำให้ฝ้าแต่ละคนเข้มไม่เท่ากัน
ฝ้าแดดกับปัจจัยอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดฝ้าแดดสะสม
ฝ้าแดด มักเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นและเกิด ฝ้า กระ ได้ นอกจากนี้การโดนแสงแดดสะสมเป็นเวลานาน โดยไม่มีการป้องกันอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดมะเร็งผิวหนัง หากป้องกันและดูแลผิวโดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิด ฝ้า และกระได้ โดยสาเหตุหลัก ๆ ของฝ้าแดดจะมีดังนี้
- แสงแดด UVA UVB และ Visible Light
แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพราะ มีความเข้มของแสงเหล่านี้สูงโดยเฉพาะในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น Visible Light คือแสงที่มองเห็นได้ นอกจากในแสงแดดแล้วยังมาจากหลอดไฟ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และแสงจากคอมพิวเตอร์อีกด้วย
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง
เพราะฉะนั้นเราเลยพบว่าผู้หญิงเป็นฝ้าแดดมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงสามารถมีฝ้าขณะตั้งครรภ์และการทานยาคุมกำเนิดได้ เมื่อไหรก็ตามที่ระดับฮอร์โมนนี้ในร่างกายสูงขึ้น ก็จะสามารถกระตุ้นเซลล์สร้างสีเมลาโนไซท์ให้เกิดฝ้าขึ้น
- ยารับประทานบางชนิด เช่น ยากันชัก เพราะส่วนผสมบางตัวอาจไปกระตุ้นการเกิดฝ้าได้
- การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอางทำให้เกิดการอักเสบแพ้ของผิวและทิ้งรอยดำคล้ายฝ้าได้
- กรรมพันธุ์ ถ้าในครอบครัวเรามีคนที่มีปัญหาฝ้า อยากให้เริ่มดูแลผิวกันให้ดี ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ เพราะจะช่วยชะลอและทำให้การเกิดฝ้านั้นยากขึ้น เรียกว่ากันไว้ดีกว่าแก้
วิธีการป้องกันฝ้าแดดและวิธีจัดการกับฝ้าแดดอย่างได้ผล
4 วิธีการป้องกันฝ้าแดดที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรง
- หลีกเลี่ยงแสงแดด เมื่อไม่จำเป็นโดยเฉพาะแดดช่วง 10.00-16.00 น. หรือถ้าจำเป็นต้องเจอก็อาจจะต้องสวมหมวก สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังได้อย่างมิดชิด หรือใช้ผ้าคลุม แม้แต่การกางร่มก็ได้เช่นกัน
- ครีมกันแดดที่มี SPF 30+ ขึ้นไป เพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB และมีค่าป้อง PA+++ ขึ้นไป ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดด 30 นาที
- ใช้ครีมสำหรับทาผิวที่มีส่วนผสมของ กรดผลไม้ หรือ ครีมไวท์เทนนิ่งเพื่อป้องผิวหน้าไม่ให้มีสีเข้มขึ้น
- ดูแลตัวเองอย่างง่าย ๆ เป็นพื้นฐานเบื้องต้น อาทิพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง/วัน หลีกเลี่ยงความเครียด รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
ฝ้าแดดกับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
สำหรับวิธีรักษาฝ้าแดด เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และสามารถมีโอกาสกลับมาได้ทุกเมื่อคุณไม่ได้ป้องกันหรือหยุดการรักษาฝ้าแดด หากป้องกันและดูแลผิวพรรณโดยหลีกเลี่ยงแสงแดดและใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าแดดได้
- ยังไม่มีวิธีรักษาฝ้าแดดให้หายขาด ฝ้าสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหลังจากการหยุดรักษา สิ่งสำคัญในการรักษาฝ้าแดด คือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้า คือการหลีกเลี่ยงแสงแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ รวมถึงการงดรับทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน
- การรับประทานยา ช่วยทำให้ฝ้าจางลงได้แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น
- การรักษาด้านอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกับยาทา ได้แก่การผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) และเลเซอร์
- วิธีการรักษาฝ้าแดดแบบธรรมชาติ โดยใช้สมุนไพร ผัก หรือผลไม้ต่าง ๆ ที่ใกล้ตัว ก็สามารถช่วยให้ลดเลือนฝ้าได้ด้วยเช่นกัน เช่น การมาสก์หน้าด้วยมะขามเปียกผสมกับน้ำผึ้ง
- รักษาฝ้าแดด กระ จุดด่างดำ ด้วยเมโส วิธีรักษาฝ้าแดดด้วยเมโสสามารถช่วยชะลอการกระจายของฝ้าได้และการฉีดเมโสหน้าใสต่อเนื่อง จะช่วยให้ฝ้าจางลง 20-50% ได้ในบางเคส
สรุปเรื่องฝ้าแดดรักษาถาวรได้จริงไหม
การดูแลผิวบนใบหน้าของแต่คนนั้นแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน ฮอร์โมน อายุ กรรมพันธุ์ และด้วยปัจจัยหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีอย่างจำกัด บางคนเป็นฝ้าลึก เลือกวิธีการรักษาฝ้าแดดด้วย “เลเซอร์” บางคนเป็นฝ้าตื้น ๆ เลือกวิธีรักษาฝ้าแดดแบบการทายา หรือครีมที่มีส่วนผสมในการรักษาฝ้า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำเลยคือเรื่อง การปฏิบัติตัว ที่หลีกเลี่ยงการเกิดฝ้าแดดอย่างเคร่งครัดเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายกับคุณในอนาคต มีวิธีรักษาฝ้าแดดให้จางลงได้ แต่ไม่สามารถมีวิธีรักษาให้หายขาดได้