เมื่อพูดถึงหนึ่งอาการที่พบได้บ่อย เป็นอาการสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ก็คืออาการนอนกรน (Snoring) เป็นอาการเกิดจากสาเหตุที่กล้ามเนื้อของร่างกายหย่อนตัวลง ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวกับระบบช่องทางเดินหายใจตีบแคบลง เมื่อทางเดินหายใจแคบลง จึงส่งผลให้เกิดเป็นเสียงสั่นสะเทือนออกมา ซึ่งนอนกรนนั้นนอกจากเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
โดยในบทความนี้ก็จะมาแนะนำทุกท่านได้รู้จักกับนอนกรนให้มากขึ้น บอกถึงสาเหตุนอนกรน วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยตัวเอง และวิธีการเข้ารับการรักษาอาการนอนกรน
นอนกรน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ?
- น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจากการวิจัยได้พบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักที่มาก มีโอกาสที่เกิดอาการนอนกรนได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีสันจมูกเบี้ยว หรือมีลักษณะที่คด หรือมีรูปหน้าที่ผิดปกติ
- ผู้ป่วยต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
- ผู้ที่มีการรับประทานยาชนิดที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยานอนหลับ, ยาแก้แพ้, ยาคลายเครียด
- นอนกรนมักจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยที่ 6-10 เท่า ซึ่งในผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะพบการนอนกรนช่วงวัยหมดประจำเดือน
- ความเหนื่อยล้าจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ผู้ที่มีไขมันในช่องคอหนามากกว่าปกติ
- ผู้ที่ชอบนอนหงายเป็นประจำ
นอนกรน มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ?
นอนกรน ถือเป็นอาการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันในทางการแพทย์ได้แบ่งอาการนอนกรนหลัก ๆ แล้วจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การนอนกรนแบบธรรมดา เป็นการนอนกรนแบบที่ส่งเสียงดังธรรมดาเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เพียงแต่สร้างมลพิษทางเสียงให้กับผู้ที่นอนรวมห้อง หรือมีอาการคอแห้งหลังตื่นนอน
- การนอนกรนอันตราย เป็นการนอนกรนที่เหมือนกับการนอนกรนธรรมดาแต่จะมีอาการที่แย่มากกว่า คือจะมีอาการที่กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนตัวลง ส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบจนแทบจะปิดสนิท อาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือการนอนหลับหยุดหายใจได้
ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงจากการนอนกรนหลัก ๆ แล้วจะมี ผลกระทบดังต่อไปนี้
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้การตื่นนอนในตอนเช้าไม่สดชื่น
- มีอาการง่วงในช่วงตอนกลางวัน เพราะรู้สึกเหมือนนอนไม่พอตลอดเวลา
- เมื่อตื่นนอนอาจทำให้รู้สึกคอแห้ง หรือนอนกรนเจ็บคอหลังจากตื่นนอนได้
- มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ส่งผลกับผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- อาจทำให้เกิดอาการ Stroke จนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
- โรคนอนกรน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
การวินิจฉัยอาการนอนกรน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?
จะเห็นได้ว่าการนอนกรน นอกจากจะมีเสียงกรนที่มีเสียงดังรบกวนผู้ร่วมห้องแล้ว ยังมีความอันตรายเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยเอาไว้ เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับคนนอนกรนหลาย ๆ คน น่าจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอนกรนจากทางโรงพยาบาลว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งในหัวข้อนี้ก็จะมาแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนทั้งหมดในการวินิจฉัย
ซักประวัติ
ในขั้นตอนแรกแพทย์จะเริ่มสอบถามเกี่ยวกับอาการนอนกรน รวมไปถึงสอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของการนอนกรน ว่ามีปัจจัยใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดอาการเมื่อนอนหลับแล้วนอนกรนได้
ตรวจร่างกาย
หลังจากการซักประวัตินอนกรนเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาจะเป็นขั้นตอนของการตรวจร่างกาย โดยจะเป็นการ ชั่งน้ำหนัก, วัดส่วนสูง, ตรวจวัดชีพจร และวัดความดันโลหิต รวมถึงการตรวจลักษณะของร่างกาย เช่น ใบหน้า, จมูก, คอ, ช่องปาก อย่างละเอียด และยังมีการตรวจอวัยวะเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หัวใจ, ปอด เป็นต้น
การรักษาอาการนอนกรน มีวิธีไหนบ้าง ?
ในปัจจุบันการรักษานอนกรนสามารถทำได้ทั้งการเริ่มต้นที่ตัวเอง และการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยการรักษานั้น จะขึ้นอยู่กับอาการนอนกรนของแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยถ้าหากไม่แน่ใจว่าอาการตนเองกำลังพบเจออยู่เป็นรูปแบบของนอนกรนแบบใด ขอแนะนำว่าให้เข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน
การปรับพฤติกรรม
วิธีแก้นอนกรนด้วยวิธีการปรับพฤติกรรม เริ่มจากการปรับสุขอนามัยการนอน จะเป็นการแก้นอนกรนที่ผลได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับเวลานอนให้เวลานอน และเวลาตื่นให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ ร่วมกับการงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ และงดการดื่มกาแฟ หากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักที่มาก ควรมีการออกกำลังกาย ร่วมกับการควบคุมอาหารควบคู่กันไป ก็จะสามารถแก้ปัญหานอนกรนเบื้องต้นได้
รักษาทางการแพทย์
นอนกรนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ จะใช้วิธีการผ่าตัดอวัยวะต่าง ๆ เพื่อรักษาอาการนอนกรน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการนอนกรนของผู้ป่วยแต่ละคนที่จะมีความแตกต่างกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้ที่ทำการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาออกมาเหมาะสม
สรุป นอนกรนอันตรายไหม ?
หากมีอาการนอนกรนที่อยู่ในระดับปกติ จะถือว่ามีความอันตรายที่น้อย แต่ก็เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรปล่อยเอาไว้นาน ควรหาวิธีลดการนอนกรนเบื้องต้น เพราะอาการนอนกรนอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับร่างกายได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่นอนกรนเสียงดังมาก ไม่เพียงแต่จะสร้างเสียงดังรบกวน ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ที่มีความอันตรายได้