Line chat

PMS สัญญาณเตือนด้วยอาการก่อนมีประจำเดือนที่ควรรู้

PMS

เคยรู้สึกหงุดหงิดง่าย เศร้าหมอง หรืออยากกินอะไรก็ไม่รู้ก่อนมีประจำเดือนหรือไม่ นั่นอาจเป็นสัญญาณของ PMS หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญ ซึ่งนอกจากอารมณ์ที่แปรปรวนแล้ว ยังมีอาการทางกายอีกมากมายที่ตามมา แล้ว PMS คืออะไร เป็นอาการก่อนเป็นประจำเดือน 1 อาทิตย์ใช่หรือไม่ แล้ว PMS รักษาได้อย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ



ทำความรู้จักกันว่า PMS คืออะไร?

PMS  ซึ่งย่อมาจาก Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เป็นอาการทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และมักจะหายไปเมื่อมีประจำเดือนมาแล้ว อาการเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย

โดยสาเหตุของ PMS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งส่งผลต่อสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงของ PMS คือ

  • หากมีประวัติครอบครัวเป็น PMS ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้สูง
  • อาการ PMS มักจะรุนแรงขึ้นในช่วงอายุ 20 – 40 ปี
  • ความเครียดสามารถทำให้อาการ PMS รุนแรงขึ้นได้
  • การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาเฟอีนสูงอาจทำให้อาการแย่ลง

เมื่อ PMS รุนแรงกว่าที่คิด ก็อาจจะทำให้เป็น PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ได้ โดย PMDD คือ ภาวะมีอาการทางอารมณ์รุนแรงก่อนมีประจำเดือน เป็นภาวะที่รุนแรงกว่า PMS โดยมีความแตกต่างระหว่าง PMS และ PMDD ดังนี้

  • PMS มีอาการทางกายและอารมณ์ที่รบกวนชีวิตประจำวัน แต่ยังสามารถควบคุมได้
  • PMDD มีอาการทางอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น อาการเหล่านี้รบกวนชีวิตประจำวันอย่างมากและอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหมดหวังหรือคิดสั้น

PMS มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง?

อาการ PMS

PMS เป็นอาการทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยอาการ PMS แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. อาการทางร่างกาย
    • เจ็บเต้านม รู้สึกตึงและเจ็บเต้านม
    • ปวดท้องน้อยคล้ายอาการปวดประจำเดือน
    • ปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะทั่วไป
    • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
    • บวมที่มือ เท้า หรือท้อง
    • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด
    • เปลี่ยนแปลงของความอยากอาหาร ทั้งอยากอาหารมากขึ้น หรืออยากอาหารน้อยลง
    • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ
  2. อาการทางอารมณ์
    • อารมณ์แปรปรวน อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ง่าย หงุดหงิด โกรธง่าย
    • รู้สึกเศร้าหรือหดหู่ รู้สึกเบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก
    • กังวลใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น
    • รู้สึกเครียดและกดดัน
    • ขาดความอดทน อดทนกับสิ่งต่าง ๆ ได้ยากขึ้น
    • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท

แนวทางในการวินิจฉัย PMS 

PMS เป็นภาวะที่อาศัยการวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยบอกเล่าเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สามารถยืนยันได้โดยตรง แต่แพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยที่ละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็น PMS จริง ๆ โดยมีขั้นตอนการวินิจฉัย PMS หรืออาการก่อนเมนส์มา โดยทั่วไปมีดังนี้

  1. การซักประวัติ แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยเป็น เช่น
    • อาการทางร่างกาย ปวดท้อง เจ็บเต้านม ปวดหัว อ่อนเพลีย บวม
    • อาการทางอารมณ์ หงุดหงิด เศร้า กังวล นอนไม่หลับ
    • ช่วงเวลาที่เกิดอาการ อาการเริ่มเมื่อไหร่ และหายไปเมื่อไหร่
    • ความรุนแรงของอาการ อาการรบกวนชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน
    • ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว การใช้ยา การตั้งครรภ์
    • ประวัติครอบครัว มีคนในครอบครัวที่มีอาการ PMS หรือไม่
  2. การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคล้าย PMS เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ หรือโรคอื่น ๆ
  3. การบันทึกอาการ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบันทึกอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 รอบเดือน เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย โดยทั่วไปจะใช้แบบบันทึกอาการที่เรียกว่า Daily Record of Severity of Problems (DRSP) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นภาพรวมของอาการและความสัมพันธ์กับรอบเดือนได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ แพทย์จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัย PMS คือ ผู้ป่วยต้องมีอาการทางร่างกายอย่างน้อย 1 อาการ และอาการทางอารมณ์อย่างน้อย 1 อาการ โดยต้องเกิดขึ้นในช่วง 5 – 10 วันก่อนมีประจำเดือน และหายไปภายใน 4 วันหลังมีประจำเดือน และอาการ PMS ต้องรบกวนการทำงานหรือการเข้าสังคม


วิธีการรักษา PMS 

อาการก่อนเมนส์มา

อาการ PMS หรือกลุ่มอาการเมนส์จะมา เป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากพอสมควร ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการ PMS วิธีแก้ มีดังนี้

  1. วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง หรือโยคะ ช่วยเพิ่มระดับเอนโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยลดความเครียดและอาการปวดเมื่อยได้
    • การพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 – 8 ชั่วโมงต่อคืน ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นฟู ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
    • การจัดการความเครียด ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง การอ่านหนังสือ การทำสมาธิ หรือการอาบน้ำอุ่น ช่วยลดความเครียดได้
    • การรับประทานอาหารที่ดี
    • ลดอาหารแปรรูป เพราะอาหารแปรรูปมักมีโซเดียมสูง ซึ่งอาจทำให้อาการบวมน้ำแย่ลง
    • เพิ่มผักผลไม้ เนื่องจากผักผลไม้มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
    • ลดคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะคาเฟอีนและแอลกอฮอล์อาจทำให้อาการนอนไม่หลับและวิตกกังวลแย่ลง
  2. การใช้ยา
    • ยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและปวดหัวได้
    • ยาคุมกำเนิดบางชนิดมีส่วนผสมของฮอร์โมนที่ช่วยลดอาการ PMS ได้
    • ยาต้านเศร้า ในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านเศร้าชนิดเฉพาะเพื่อช่วยบรรเทาอาการ PMS
  3. การบำบัดพฤติกรรม ช่วยให้ผู้หญิงเรียนรู้วิธีจัดการกับความคิดและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับ PMS
  4. อาหารเสริม อย่างเช่น แคลเซียมและวิตามินดี ช่วยลดอาการปวดท้องและปวดเต้านม หรือ แมกนีเซียม ช่วยลดอาการหงุดหงิดและปวดหัว 

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการ PMS รักษาด้วยยาหรืออาหารเสริมใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ และสิ่งสำคัญ การรักษาอาการ PMS ต้องใช้เวลาและความพยายาม อาจต้องลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ยาหลายอย่างก่อนที่จะพบวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง


PMS ปัญหาโลกแตกของผู้หญิง

PMS คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เป็นอาการทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และมักจะหายไปเมื่อมีประจำเดือนมาแล้ว บางครั้ง อาการ PMS อาจจะเกิดความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น จึงควรเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทานยา หรืออาหารเสริม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ