ไบโพลาร์เป็นโรคที่ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้รับผลกระทบอย่างแรง เช่น ทำงานไม่มีประสิทธิภาพการเรียนแย่ลง, ติดเหล้า หรืออาจะติดยาเสพติด ทั้งยังทำให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรอบข้างอีกด้วย ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือผู้ป่วยไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นโรคนี้อยู่ เพราะไม่เข้าใจทั้งสัญญาณ และอาการของโรคไบโพลาร์
ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับโรคไบโพลาร์ เพื่อให้เข้าใจเบื้องต้น และประเมินได้ว่าตนมีอาการของไบโพลาร์หรือไม่ นอกจจากนี้ก็จะไปดูวิธีรักษาโรคไบโพลาร์ ยารักษาโรคไบโพลาร์ พร้อมทั้งการดูแลตัวเองเพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรอบข้าง
โรคไบโพลาร์ คือ โรคที่เกี่ยวกับอะไร
ไบโพลาร์ คือ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ เป็นลักษณะของอารมณ์แปรปรวนหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคอารมณ์สองขั้ว” นั่นเอง และอารมณ์ก็คือ ภาวะความรู้สึกทางใจที่มีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยที่มากระตุ้นเร้า อาจจะมาจากปัจจัยภายนอกหรือภายในก็ได้ แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์จนเป็นที่มาของการเกิดโรคไบโพลาร์นั้น เราจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้วนั้น จะมีอารมณ์ที่แตกต่างกันสุดขั้วอยู่สองช่วง คือ
- ช่วงหนึ่งจะมีอารมณ์พลุ่งพล่าน คึกคักผิดปกติ (Mania / Hypomania) มีพลังงานล้นเหลือ มั่นใจในตัวเองสูง พูดเร็วและมากผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และจะก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจ ทำให้พักผ่อนน้อย มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดง่าย สำส่อนทางเพศ ฯลฯ ช่วงระยะนี้จะยาวนานหลายวัน
- อีกช่วงหนึ่งซึ่งจะสลับกับช่วงก่อนหน้านี้จะกินระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และเป็นช่วงที่มีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) รู้สึกติดลบดำดิ่งสุด ๆ เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าไร้ค่าไม่มีคนต้องการ ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพัง
แต่ก็เพราะยังมีช่วงที่อารมณ์เป็นปกติคอยคั่นกลางจึงทำให้สมาชิกในครอบครัว หรือคนรอบข้างไม่รู้ตัวว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นไบโพลาร์ได้
โรคไบโพลาร์มีหลายแบบ เช่น Bipolar I (อาการซึมเศร้าสลับอาการแมเนียรุนแรงเป็นระยะ), Bipolar II (อาการซึมเศร้าเต็มรูปแบบสลับอาการแมเนียที่ไม่มาก ไม่ชัดเจน) และ Cyclothymic disorder (ทั้ง 2 อาการไม่เต็มรูปแบบ) ดังนั้นควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยไบโพลาร์อยู่ในรูปแบบไหนจะได้ใช้วิธีรักษาโรคไบโพลาร์ที่เหมาะสม
ไบโพลาร์ สาเหตุมาจากปัจจัยใดบ้าง
สาเหตุของการเกิดเป็นไบโพลาร์พอจำแนกออกได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
- การทำงานของสารสื่อนำประสาททั้ง 3 ชนิด คือ
- สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) มีมากเกินไป : กระตุ้นการทำงานของระบบประสาททางด้านอารมณ์และการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว ความตื่นเต้น
- สารเซโรโทนิน (Serotonin) มีน้อยเกินไป : ควบคุมการรับรู้ เช่น ความอยากอาหาร การนอนหลับ ความจำระยะสั้น เป็นต้น
- สารโดปามีน (Dopamine) : ควบคุมความรู้สึกตื่นตัว การตอบสนองต่อสิ่งเร้าอยู่ในระดับที่ขาดความสมดุล จึงส่งผลต่อการสั่งงานของสมองให้ทำงานผิดปกติไปด้วย จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
- พันธุกรรม ถึงแม้ปัจจัยรูปแบบการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จะยังไม่ชัดเจน ไม่ได้รับการยืนยัน แต่จากการตรวจสอบผู้ป่วยจะพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์เช่นกัน
- ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น
- ปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ประสบกับวิกฤติชีวิต เช่น การสูญเสียคนสำคัญในชีวิต เครียดกับปัญหาการเรียน การทำงาน ความผิดหวังจากสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตกงาน เป็นต้น
- สารเสพติดบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ที่เป็นตัวกระตุ้นอาการทางจิตจากไบโพลาร์
อาการของไบโพลาร์ที่พึงระวัง
อาการของไบโพลาร์นั้นจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล รวมถึงความถี่ในการเกิดอาการ บางคนเกิดติดต่อกันและบ่อยครั้ง แต่บางคนนาน ๆ เกิดหรือแทบไม่เกิดเลย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์นั้นมีประมาณ 5% ของประชาชนทั่วไป เป็นโรคที่สามารถพบเห็นได้ทั้งในคนอายุน้อยประมาณ 15-19 ปี, 20-24 ปี ไปจนถึงคนมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน จากการศึกษาพบว่าส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการครั้งแรกนั้นจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี ทั้งยังมีมากถึง 50%
อาการของไบโพลาร์ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ที่มี 2 ขั้วที่แตกต่างกันสุด ๆ จะมีอาการดังต่อไปนี้
- ช่วงที่มีกลุ่มอาการแมเนีย (Mania เป็นอยู่อย่างน้อย 1 สัปดาห์, Hypomania เป็นติดต่อกัน 3-4 วัน)
- ช่างพูดคุยมากกว่ายามปกติ
- จะหมกมุ่นกับกิจกรรมบางอย่างมาก ๆ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
- นอนไม่ค่อยหลับ นอนเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน
- เชื่อมั่นในตัวเองมากว่ามีความสามารถสูง
- รู้สึกคึกคักอยู่ตลอดเวลา
- สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
- มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
- กลุ่มอาการซึมเศร้า (Depression)
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไรเลย
- ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจผิดพลาด
- นอนไม่หลับ หรือ อยากนอนมากเกินไป
- ท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อหน่าย
- ซึมเศร้า เก็บตัว ร้องไห้ง่าย
- รู้สึกไร้ค่าจนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
- ความอยากอาหารเพิ่มหรือลดลงจากเดิม หรือ น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ โดยไม่ได้พยายามลดน้ำหนัก
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นโรคไบโพลาร์จะมีอารมณ์ทั้ง 2 ขั้วสลับกับอารมณ์ปกติสำหรับในรายที่มีอาการไม่รุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้หรือยัง
สัญญาณเตือนไบโพลาร์ที่ไม่ควรละเลย
สำหรับคนที่มีแนวโน้มจะเป็นไบโพลาร์ ส่วนใหญ่จะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และอาการเบื้องต้นของการเกิดโรคไบโพลาร์จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย
- ชอบทำกิจกรรมหรือโปรเจคเยอะมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน ทำให้มีปัญหาในการทำงานให้สำเร็จ
- อารมณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปมามากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ (แบบไฮเปอร์)
- เปลี่ยนงานหรืออาชีพบ่อย ๆ โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า
- ชอบใช้เงิน ไม่คิดหน้าคิดหลัง
- ชอบเข้าสังคมมากเกินไปจนมีปัญหากับคนรอบข้าง
โรคแทรกซ้อนจากไบโพลาร์ที่เกิดกับกายและจิตใจ
ถึงแม้ว่าไบโพลาร์เป็นโรคอารมณ์ผิดปกติ แต่หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคไบโพลาร์นั้นก็คือ สุขภาพร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์จะมีโรคร่วมทั้งทางกายและทางจิตสูงกว่าคนปกติทั่วไป
โรคแทรกซ้อนทางกายที่อาจเกิดตามมาจากการเป็นไบโพลาร์นั้น ก็จะมี
- โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- โรคสมาธิสั้น
- โรคเบาหวาน
- โรคที่เสี่ยงต่อการเสพติดแอลกอฮอล์ หรือ ใช้สารเสพติดอื่น ๆ
- โรคอ้วน
- โรคปวดหัวเรื้อรัง โรคไมเกรน
- โรคต่อมไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจ
- โรคทางจิต
การรักษาไบโพลาร์ที่ช่วยรักษาชีวิตปกติประจำวันได้
ไบโพลาร์เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ผลลัพธ์จะไม่ถาวรเพราะเมื่อใดก็ตามที่สารสื่อประสาทในสมองขาดความสมดุลก็มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
แพทย์ที่ทำการรักษาไบโพลาร์จะทำการวินิจฉัยเพื่อหาที่มาของสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง ด้วยการตรวจอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ พร้อมใช้คำถามจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต (DSM) เพื่อทดสอบผู้ป่วยโดยจิตแพทย์ มีการซักประวัติ อาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมประวัติการใช้ยา ก่อนเตรียมการ
รักษาขั้นตอนต่อไปที่เหมาะสม
วิธีรักษาโรคไบโพลาร์นั้นมีดังต่อไปนี้
- ให้กินยารักษาโรคไบโพลาร์ (ลิเทียม, ยากันชักบางชนิด, ยาทางจิตเวช, ยาต้านเศร้า, ยาคลายกังวล) เพื่อปรับสารสื่อประสาทให้สมดุลจนสมองสามารถควบคุมอารมณ์ได้ตามปกติ และต้องกินอย่างต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดยา
- ให้เข้าร่วมกลุ่มบำบัดจิตใจเพื่อลดความเครียดและความขัดแย้งที่เกิดจากอารมณ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรค ปรับพฤติกรรม พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- คนรอบข้างช่วยกันดูแล ให้กำลังใจ
- สุดท้ายต้องดูแลตนเองในทุก ๆ ด้าน เช่น พักผ่อนเพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
วิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยไบโพลาร์
นอกเหนือจากการรักษาไบโพลาร์โดยแพทย์ที่ทำการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดปัจจัยเสี่ยงและลดอาการรุนแรงของโรคไบโพลาร์ รวมถึงโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมาด้วย
วิธีที่ผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์สามารถทำเพื่อดูแลตนเองได้มีดังต่อไปนี้
- ห้ามซื้อยามากินเอง ให้ไปพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ เพื่อให้สามารถประเมินความรุนแรงของอาการได้อย่างแม่นยำ
- ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ให้ปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติจากการใช้ยา
- ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด และตรวจร่างกายประจำปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- รักษาสุขภาพจิตให้ดี พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด พึงเข้าใจไว้ว่าทุกปัญหามีทางออก
- ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
สรุปไบโพลาร์กับความสุขในชีวิต
ไบโพลาร์เป็นโรคป่วยทางอารมณ์ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถวินิจฉัย รักษา พร้อมแนะนำวิธีดูแลตัวเองให้อาการดีขึ้นจนหายแล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างเป็นสุขในชีวิตจริง สิ่งสำคัญคือปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรรู้สึกอายที่ต้องพูดคุยกับจิตแพทย์อีกต่อไป